บทสวดมนต์
กรณียเมตตสูตร
เสกศัตรูเป็นมิตร
ผูกจิตให้ลุ่มหลง
ความเป็นมาของคาถา
สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ไปปักกลดที่ปฏิบัติธรรมที่ราวป่าหิมวันต์ ถูกเทวดาเจ้าถิ่นกลั่นแกล้งด้วยการแปลงกายเป็นผีมาหลอกหลอน เพราะไม่อยากให้อยู่ในถิ่นของตน ภิกษุกลุ่มนั้นทนไม่อยู่ไม่ได้จึงหนีกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานมนต์คาถาบทหนึ่งชื่อ เมตตสูตร ให้แก่ภิกษุเหล่านั้นแล้วทรงให้กลับไปปฏิบัติธรรมที่เดิม โดยทรงกำชับให้ภิกษุสวดมนต์บทนี้เมื่อไปถึงราวป่า และให้สวดมนต์บทนี้ทุกวันเช้าเย็น เมื่อภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ เทวดาทั้งหลายที่เคยรังเกลียดต่างก็มีใจรัก พากันออกมาปรนนิบัติรับใช้จนตลอดพรรษา ภิกษุเมื่อได้รับการปรนนิบัติดี ก็ทำให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้าและได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด
มนต์คาถาที่พระพุทธเจ้าประทานให้นั้นดังนี้
กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ
ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ
สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ
อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ
อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ
เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ
ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
ทีฆา วา เย มะหันตา วา
มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลา
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา
เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
ภูตา วา สัมภะเวสี วา
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา๑
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ
นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
พยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา
นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง
อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
เอวัมปิ สัพพะภุเตสุ
มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง
มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
อุทธัง อะโธ๒ จะ ติริยัญจะ
อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา
สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา
ทัสสะเนนะ สัมปันโน
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง
นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ.
๑วรรคนี้จัดเป็นหัวใจของคาถาเมตตสูตร
๒อาจารย์หลายท่านนำไปแปลงเป็น อุทธัง อัทโธ แล้วนำมาบริกรรมเป็นคาถามหาอุดทำให้กระสุนปืนด้านยิงไม่ออก
คำแปล บทกรณียเมตตสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้ว่า)
ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท ควรบําเพ็ญกรณียกิจควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตําหนิเอาได้ (ควรแผ่เมตตา ไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า) ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคงขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน ขอสัตว์เหล่านั้น ทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือ สัมภเวสีก็ดี ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกันเพราะความโกรธและความแค้น ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยัง สรรพสัตว์ ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด ทั้ง ชั้นบน ชั้นล่างและชั้นกลาง ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิมีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ กําจัดความยินดีในกามคุณได้แล้วก็จะ ไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
ใจความสำคัญของมนต์คาถา
มนต์คาถาบทนี้ มีในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางข้อปฏิบัติสำหรับสร้างเสน่ห์ไว้ ๑๖ ประการ คือ
๑) องอาจ กล้าตัดสินใด กล้ายอมรับผิด ไม่อ่อนแอ
๒) ซื่อตรง มีความจริงใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง
๓) เคร่งครัด มีระเบียบวินัยไม่ทำนอกกฎ
๔) ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ฟังทะลุหูซ้ายออกหูขวา
๕) อ่อนโยน ปฏิบัติตนให้เกียรติแก่ผู้อื่น
๖) ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ยกตนข่มท่าน
๗) สันโดษ มีความยินดีในสิ่งที่มี ที่เป็น
๘) เลี้ยงง่าย ไม่เห็นแก่กิน
๙) ไม่ยุ่งกับเรื่องของคนอื่นเกินงาม
๑๐) มีความคล่องตัวสูง มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
๑๑) สำรวม รู้จักวางตัวเหมาะสมกับสถานการณ์
๑๒) มีปัญญา รู้จักเอาตัวรอด
๑๓) ไม่คะนอง ไม่พูดหรือแสดงอาการลิงโลดเกินงาม
๑๔) ไม่เป็นคนถือวิสาสะเกินควร
๑๕) ไม่ทำสิ่งที่น่าติเตียน
๑๖) มีเมตตา ปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข
ผลานิสงส์แห่งมนต์คาถา
มนต์คาถาบทนี้ ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของเมตตามหานิยมทั้งหลายทั้งปวง ผู้ใดสวดหรือบริกรรมเป็นประจำจะทำให้มีเสน่ห์ที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมาะสำหรับนักบริหาร ผู้นำที่ต้องการเข้าไปนั่งในใจลูกน้อง พ่อค้าแม่ขาย หรือลูกน้องที่ต้องการเป็นที่รักของเจ้านาย สวดก่อนเปิดร้าน ก่อนไปสัมภาษณ์หรือก่อนเผชิญหน้ากับศัตรูคู่แข่ง จะทำให้ลูกค้าเข้าร้านดี คนสัมภาษณ์ถูกชะตา ศัตรูกลับกลายเป็นมิตร
หัวใจคาถาเมตตสูตร
สำหรับท่านที่มีเวลาน้อย หรือต้องการสวดเรียกกำลังใจหรือใช้ในเวลาขับขัน เช่น พบคนที่ไม่ค่อยชอบหน้าเรา หรือกำลังโกรธเรา ต้องการให้เขาหายโกรธ หันมาเป็นมิตรกับเรา ให้ประนมมือขึ้นแล้วหลับตา หรือจะไม่ประนมมือก็ได้ หลับตาสำรวมจิตให้มีเมตตา แล้วบริกรรมคาถาว่า
สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขกาย สุขใจเถิด เพี้ยง!
เสร็จแล้วให้ลืมตา ยิ้มทักผู้นั้นก่อน รับรองเขาจะหายโกรธหันมาเป็นมิตร
รวบรวมเรียบเรียงโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
น.ธ.เอก, ป.ธ.๗, พธ.บ. (ภาษาไทย)
บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์